พอล พต: ย้อนรอยทุ่งสังหาร

ถ้าเกิดท่านคิดจะเดินทางท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านติดกับไทย ผมขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือ “นครวัด” และ “บ่อนคาสิโน” นั่นคือ “อนุสรณ์สถานเจืองเอ็ก” และ “ตุล สาเลช”

อนุสรณ์นี้หากมองดูเพียงภายนอกแล้วหลายคนอาจคิดว่ามันก็คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเอกราชของชาวเขมรเท่านั้น แต่ใครจะรู้ว่าภายในมันกลับบรรจุไว้ด้วยเรื่องราวอันโหดเหี้ยมและภาพอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่มีวันจะลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวเขมรได้เลย เพราะภายใน “อนุสรณ์สถานเจืองเอ็ก” คือสถานที่เก็บหัวกะโหลกของชาวเขมร เหยื่อของการสังหารโหดที่เรียกว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นเสมือนสถานที่แสดงถึงความโหดร้ายและระลึกถึงผู้เสียชีวิตชาวเขมรที่ต้องดับดิ้นลงไปด้วยน้ำมือของคนชาติเดียวกัน

เชื่อว่าชาวเขมรที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ คงจะไม่มีใครลืมเลือนเหตุการณ์ ในปี ค.ศ. 1975 ที่ชีวิตคนประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคน ได้ถูกนำไปทารุณอย่างโหดร้าย ก่อนที่จะถูกส่งไปยังสนามแห่งหนึ่งตรง “ช่องเอก” ในจังหวัดกันดาล ชานกรุงพนมเปญ ซึ่งชาวเขมรรู้จักกันดีในนามของ “Killing Fields” หรือ “ทุ่งสังหาร” ณ ที่แห่งนี้เหยื่อทั้งหมดถูกยิง ถูกตัดหัว ถูกทุบตี ถูกแทงและอีกสารพัดวิธีการทรมานสุดแต่ที่ชาวเขมรด้วยกันจะคิดออกมาได้

ว่ากันว่าถ้าเหยื่อเป็นเด็กจะถูกจับเท้าและฟาดอย่างแรงกับต้นไม้จนตายคาที่ จากนั้นก็จะถูกจับแขวนคอยังกิ่งไม้ในรอบๆ ทุ่งสังหาร ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก่อนที่จะถูกฆ่าพวกเขาจะถูกบังคับให้ขุดหลุมขนาดใหญ่เหมือนกระทะ เมื่อขุดเสร็จก็จะถูกยิงทิ้งในหลุมนั้นทันที เหยื่อทั้งหมดนอนตายอย่างทุกข์ทรมานในสนามแห่งนี้และคงเหลือไว้เพียงหัวกะโหลกให้คนรุ่นหลังได้เห็นเท่านั้น ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ครอบหัวกะโหลกเอาไว้ ซึ่งก็คือ “อนุสรณ์สถานเจืองเอ็ก” ในปัจจุบันนั่นเอง

เชื่อหรือไม่? เรื่องสยองทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคน 2 คนแท้ๆ และสองคนนี้เป็นคนเขมรโดยกำเนิด แต่ใจเขาสุดอำมหิตจนเป็นเหตุให้คนเขมรตายถึง 3 ล้านคน คนแรกคือ “เขียว สัมพันธ์” และคนที่สองคือ “พอล พต” (Pol Pot)

“ซาลอท ซาร์” (Saloth Sar) หรือ “พอล พต” (1925-1998) เป็นผู้นำเขมรแดงและเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาในปี ค.ศ. 1976-1979 – “พอล พต” เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1925 ที่เมืองกำปงธม ในครอบครัวเศรษฐีหัวสมัยใหม่ พ่อเป็นเจ้าที่ดินที่มั่งคั่ง ส่วนพี่สาวและญาติฝ่ายหญิงทำงานในวัง (เอกสารบางแห่งบอกว่าเป็นนางรำ แต่บางแหล่งบอกว่าเป็นสนม) ในเวลานั้นกัมพูชาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยว-หัวต่อกำลังสับสนวุ่นวาย เนื่องจากขณะนั้นเขมรยังถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมอยู่ ทำให้วัยรุ่นนักศึกษาเขมรเกิดแฟชั่นฮิตในการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ โดยหวังว่าการปกครองนี้จะช่วยให้กัมพูชาเจริญก้าวไกลกว่าประเทศอื่นๆ

พอล พต

“พอล พต” ในตอนเด็กนั้นไม่มีเค้าของผู้นำที่โหดร้ายในอนาคตสักนิด เขาเป็นเด็กเรียบร้อย มารยาทงาม ชอบคิดคนเดียวเงียบๆ มากกว่าจะพูด คะแนนการเรียนใช่ว่าจะดีเลิศมากมายนัก แต่กระนั้น “พอต พต” ก็มีดีอยู่อย่างคือ เขาเก่งภาษาฝรั่งเศสและความที่เป็นเด็กเส้นทำให้เขาได้ทุนเรียนที่กรุงปารีสในสาขาเกี่ยวกับไฟฟ้าและคลื่นวิทยุเมื่อปี ค.ศ. 1949 แม้จะไปเรียนเมืองนอกก็ตาม แต่ “พอล พต” ใช่ว่าจะตั้งใจเรียนมากนัก คะแนนสอบเขาห่วยจัด เอาแต่หมกอ่านหนังสือไปวันๆ ไม่นานก็เริ่มเบื่อที่จะคุยกับเพื่อนๆ ในสาขาเดียวกันและมุ่งหาเพื่อนที่มีแนวคิดที่เสมือนกับเขาและที่สำคัญจะต้องเป็นคนชาติเดียวกันกับเขา นั่นคือ “สายเลือดกัมพูชา”

ต่อมาเขาได้มาพบกับเพื่อนที่เขาต้องการ บุคคลที่จะนำพาชีวิตและอุดมการณ์ของเขาให้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โชคชะตาพา “เขียว สัมพันธ์” และ “พอล พต” ให้มาพบกัน ทั้งสองพูดคุยกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง – “เขียว สัมพันธ์” ได้ให้เหตุผลถึงการมีอยู่ของรูปแบบทุนนิยมอันจะก่อให้เกิดการทำลายกันเองให้ “พอล พต” ได้ฟัง จนทำให้ “พอล พต” ถึงกับอึ้งในความคิด เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาคิดว่าฝรั่งเศสจะช่วยพัฒนาชาวเขมรให้ดียิ่งขึ้น แต่เพราะการเปิดประเด็นของ “เขียว สัมพันธ์” ที่กล่าวถึงนโยบายประเภทเลี้ยงสัตว์ป่าให้อยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นวิธีที่สอนให้ชาวเขมรไม่ขยันขันแข็ง มีการส่งเสริมการพักผ่อนกลางวันถึง 2 กะ ทำให้ชาวเขมรไม่กระตือรือร้นและใฝ่รู้ในการเรียนและฝรั่งเศสจะได้ปกครองง่ายๆ “เขียว” เอ่ยปากทฤษฎีที่เขาศึกษาว่านี่คือวิธีการปกครองที่เหมาะแก่ประเทศกัมพูชาแก่ “พอล พต” ว่า

“ลบล้างกฎเกณฑ์และเรื่องราวทุกอย่างของชาติตะวันตก (ฝรั่งเศส) ที่เคยวางรากฐานปกครองกัมพูชาเอาไว้ ยุติการแสวงประโยชน์ในทุกทาง ให้ประเทศกัมพูชาเจริญในการปกครองแบบชนบท คือ ไม่มีเมืองใหญ่ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีระบบเงินตาและไม่มีการศึกษา”

แม้ทฤษฏีนี้จะเป็นแค่ลมปากของ “เขียว” แต่ “พอล พต” ชอบใจมาก เขาคิดว่าจะนำทฤษฏีนี้มาใช้กับประเทศกัมพูชาในอนาคต

เขียว สัมพันธ์ (ซ้าย) เจ้าสีหนุ (ขวา)

จากนั้น “พอล พต” ก็เริ่มหลงใหลคอมมิวนิสต์ อีกสองปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 1952 เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งต่อต้านลัทธิต่อต้านอาณานิคม ร่วมกับ “เส็ง สาลี” ซึ่งเคยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และต่อมาสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้ก่อวีรกรรมที่ทำให้ตนเองต้องถูกลอยแพ นั่นคือการส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง “สมเด็จสีหนุ” ตราหน้าว่าเป็นฆาตกรประชาธิปไตยที่ยังตั้งไข่ ทำให้ฝรั่งเศสสั่งปิดสมาคมนักศึกษากัมพูชา (KSA) และถูกระงับเงินทุนเข้าประเทศ ทำให้สมาคมนักศึกษาต้องแตกกระเซ็น – “พอล พต” ต้องเดินทางกลับประเทศพร้อมกับ “เขียว สัมพันธ์” ในปี ค.ศ. 1953 และทำงานในโรงเรียนเอกชนในกรุงพนมเปญ แต่ฉากหลังนั้นทำงานให้กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่นานนัก “พอล พต” ออกพื้นที่ไปยังจังหวัดกำปงจามเพื่อร่วมมือกับพวกเวียดมินห์ในช่วงสงครามกับฝรั่งเศส ต่อมาก็กลับมาที่พนมเปญเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานระหว่างพรรคการเมืองหัวเอียงซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งแบ่งออกเป็นสองปีกคือ “ปีกสนับสนุนเวียดนาม” และ “ปีกต่อต้านเวียดนาม”

ในปี ค.ศ. 1954 กัมพูชาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในข้อตกลงของ “สนธิสัญญาเจนิวา” หลังสงครามโลกฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเก่าต้องการกัมพูชากลับมาไว้ในมือเหมือนเดิมเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินและต่างประเทศ แต่ทางกัมพูชาได้รับบทเรียนนั้นแล้วจึงไม่ยอมแน่นอนและได้ทำการขับไล่กองทัพฝรั่งเศสจนเรียกได้ว่าเผ่นป่าราบจนไปถึงสมรภูมิที่คนยุคหลังเรียกว่า “เดียนเบียนฟู”

“สมเด็จพระนโรดม สีหนุ” (เรียกสั้นๆ ว่า “สมเด็จสีหนุ”) กษัตริย์ของเขมรทรงได้รับเลือกจากสภาให้สืบราชสมบัติจากพระอัยกา (ท่านตา) คือ “สมเด็จสีศวัด มนีวงศ์” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ในภายหลังพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติให้พระบิดาคือ “สมเด็จพระนโรดม สุระมฤติ” ทรงดำรงเป็นกษัตริย์แทน เพื่อมาลงรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี “สมเด็จสีหนุ” ได้ทรงพยายามนำประเทศให้ทำตัวเป็นกลางปลอดจากจากกองกำลังเวียดนามและต้องการรวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวจึงให้พรรคการเมืองต่างๆ ปะทะกันเอง พระองค์ยังทรงปราบปรามพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง พรรคคอมมิวนิสต์ก็โดนผลกระทบนี้ด้วย กลุ่มแกนนำที่สำคัญโดนฆ่าตัดตอนจนมากมายหลายคน – “พอล พต” จึงได้เลื่อนขึ้นมารับตำแหน่งในพรรคอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี ค.ศ. 1963 ทางการกัมพูชาได้ขึ้นบัญชีดำ “พอล พต” เป็นอาชญากรหมายเลขหนึ่งที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด

ปี ค.ศ. 1963 – “พอล พต” จำต้องลี้ภัย เขาเลือกที่จะหนีไปเวียดนามและขอความช่วยเหลือจากเวียดนามเหนือ (ตอนนั้นเวียดนามยังคงแบ่งเป็นเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้) จัดตั้งกองกำลังเป็นเขมรแดงหรือกลุ่ม “Khmer Rouge” (Red Cambodians) แต่ในตอนนั้นเวียดนามเหนือกำลังสู้กับสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถช่วย “พอต พต” ได้มากนัก – “พอล พต” สิ้นหวังกับเวียดนามเหนือ เขาเลยเดินทางไปยังจีน เขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพวกซ้ายจัด อีกทั้งเขาได้แนวคิดใหม่ๆ จากจีน และอยากนำมาใช้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม นโยบายก้าวกระโดด

– ปฎิวัติโหด –

ในปี ค.ศ. 1966 – “พอล พต” กลับมากัมพูชา เวลานั้นประชาชนเขมรกำลังทะเลาะกัน เนื่องด้วยพวกชาวนาออกมาต่อต้านรัฐบาลของ “สมเด็จสีหนุ” เพราะไม่สามารถแก้ไขราคาข้าวได้ ทำให้ชาวเขมรหลายคนเข้าร่วมพรรคคอมมัวนิสต์ของ “พอล พต” มากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งปีต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมคือ “Communist Party of Kampuchea” หรือ CPK (แปลเป็นไทยได้ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูเชีย (กัมพูชา)”) จากนั้นเป็นต้นมาสงครามกลางเมืองเขมรก็เริ่มต้นขึ้น แม้ทหารจากรัฐบาลจะมีจำนวนมากกว่ากองกำลังของ “พอล พต” และเวียดนามเหนือไม่มาช่วยเหลือก็ตาม แต่กระนั้นปี ค.ศ. 1968 “พอล พต” ก็ก้าวมาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของกลุ่มเขมรแดงที่เรียกว่า “ประธานพรรค” (Collective Leaders) มีผู้ติดตามนับร้อย ปกป้องเขาอย่างกับไข่ในหิน

… ย้อนกับมายัง “สมเด็จสีหนุ” พระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี

ต่อมาพระบิดาของ “พระเจ้าสีหนุ” ซึ่งครองราชย์อยู่ในกัมพูชาเพียง 5 ปีก็ทรงสวรรคต ทำให้ “พระเจ้าสีหนุ” ดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่งควบ นั่นคือ “พระมหากษัตริย์” และ “นายกรัฐมนตรี” ไปด้วย พระองค์เจอปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการบริหารประเทศ การเมืองที่ร้อนฉ่า และแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ในปี ค.ศ. 1970 – “สมเด็จสีหนุเสด็จ” เดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่จีนและโซเวียต “นายพลลอน นอล” ถือโอกาสปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐและยึดอำนาจมาไว้เป็นของตนเอง – “นายพลลอน นอล” มีแนวคิดไม่สนับสนุนเวียดนามเหนือและร่วมมือสหรัฐฯ ทุกรูปแบบ (มีข่าวลือว่า CIA อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้) ในที่สุดเหตุการณ์ปานปลาย สงครามกลางเมืองของกัมพูชายิ่งเลวร้ายขึ้น “สมเด็จสีหนุ” ตอนนี้ติดค้างอยู่ที่ปักกิ่ง พยายามออกรายการวิทยุเพื่อปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าวิธีนี้จะได้รับผลดีมากนัก “สมเด็จสีหนุ” เลยต้องเข้าไปจูบปากกับศัตรูคู่แค้นที่ครั้งหนึ่งพระองค์เกลียดนักเกลียดหนาอย่าง “พอล พต” เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับรัฐบาลของ “นายพลลอน นอล”

จากเพื่อนเป็นศัตรู-จากศัตรูมาเป็นเพื่อน ทุกสิ่งทุกอย่างคือผลประโยชน์ เวียดนามเหนือก็เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย “นายพลลอน นอล” ที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามใต้และสหรัฐฯ ได้ใช้สิทธินี้ขอกำลังฝูงบินของสหรัฐฯ นำทิ้งระเบิดที่ภาคตะวันออกของกัมพูชาทำให้ผู้บริสุทธิ์ตายนับพัน เหตุการณ์แทนที่จะดีกลายเป็นร้ายขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเขมรเหม็นขี้หน้า “นายพลลอน นอล” สุดขาดใจ ถึงขั้นจับ “นายลอน นิล” พี่ชายของ “ลอน นอล” ไปคว้านท้องเอาตับมาต้มแบ่งกิน รัฐบาลของ “ลอน นอล” เต็มไปด้วยคอรัปชั่น บ้านเมืองไม่มีเขื่อนมีแป ถึงขนาดข้าราชการบางคนเอาปืนไปขายให้พวกคอมมิวนิสต์เพื่อเอาไปยิงชาวบ้านเล่นก็มี ตัว “นายพลลอน นอล” ก็อ่อนแอ ล้มเหลวในการบริหารประเทศ วันๆ เอาแต่ขอความช่วยเหลือสหรัฐฯ

นายพลลอน นอล

“พอล พต” อาศัยจังหวะสะสมกองกำลังและปัจจัยการรบมากขึ้นเรื่อยๆ เขาปลูกฝังอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ที่ทำให้คนเรามีฐานะเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้ชาวนาที่ยากจนชอบเขมรแดงมากขึ้นและพื้นที่การครอบครองของเขมรแดงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปี ค.ศ. 1972 – เวียดนามเหนือยุติการรบกับรัฐบาลของ “นายพลลอน นอล” และส่งมอบภาระให้กับ “พอล พต” กับกองทัพต่อไปและด้วยความสนับสนุนจากประเทศจีน บวกกับตัว “นายพลลอล นอล” ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐน้อยลง ทำให้ “พอล พต” ยึดกัมพูชาได้เมื่อปี ค.ศ. 1975 กองทัพเขมรแดงได้รับชัยชนะ “นายพลลอน นอล” ลี้ภัยไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ก่อนที่กองทัพเขมรแดงจะเข้ายึดเมืองหลวง ทันทีที่กองทัพเขมรแดงภายใต้การนำของ “พอล พต” ยึดเขมร สิ่งแรกที่ “พอล พต” ออกคำสั่งไปคือให้นำผู้นำระดับสูง ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐบาลและผู้นำระดับสูงของรัฐบาลหลายคนไปยิงทิ้งกันต่อหน้าสาธารณชน

เช้าของวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1975 กองกำลังของเขมรแดงเดินแถวกันเข้ามาในกรุงพนมเปญบนถนนที่รกร้างว่างเปล่า กองกำลังนี้แต่งตัวเหมือนชุดชาวนาหรือไม่ก็ชุดสีกากีแบบง่ายๆ อายุเฉลี่ยประมาณ 15 ปี พวกเขาไม่สนใจการต้อนรับของประชาชนมากนัก แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงปีใหม่ของเขมรพอดี (บางที่บอกว่าเป็นวันชาติของกัมพูชา)

“พอล พต” กล่าวว่าปีดังกล่าวเป็นปีที่เริ่มศักราชใหม่ของเขมรหรือเรียกว่าเป็นปีศูนย์ (Year Zero) เขมรจะเปลี่ยนโฉมเสียใหม่เป็นประเทศที่ประชาชนมีฐานะเท่าเทียมกันและแล้วทฤษฏีของ “เขียว  สัมพันธ์” จึงถูกปัดฝุ่นเพื่อนำมาใช้ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นความเลวร้าย ความตายครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ รูปแบบการปกครองของเขมรแดงมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” โดยใช้รากฐานทางอุดมการณ์ที่เรียกว่า “อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ” (Ideology of Total Revolution) ที่มีการรักษาเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพเป็นตัวขับเคลื่อน เขมรแดงเริ่มใช้วิธีที่รุนแรงปกครองประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตัวเอง รวมถึงการโดดเดี่ยวประเทศออกจากอิทธิผลต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ยกเลิกระบบธนาคาร เงินตรา ฯลฯ

สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆ เพื่อหลบหนีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่ไม่พอใจว่ารัฐบาลที่ตัวเองหนุนถูกโค่นล้ม “พอล พต” อ้างว่าการเดินทางนี้ไม่ไกลมากนักและใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก็กลับบ้านได้ หลังจากนั้นถนนในกรุงพนมเปญก็เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทุกคนหวังว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตที่ดีกว่ารัฐบาลก่อนหน้า แต่หารู้ไม่ว่า “พอล พต” นั้นโกหกหน้าด้านๆ สิ่งที่ชาวบ้านพวกนี้ต้องเผชิญคือการถูกบังคับให้เข้าระบบนารวม ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้มีเสบียงเลี้ยงคนทั้งประเทศ กรุงพนมเปญกลายเป็นเมืองร้างที่เต็มไปด้วยครอบครัวของผู้นำเขมรแดง โรงพยาบาลก็ร้างคนเพราะคนไข้คนเจ็บหนักก็ถูกกวาดต้อนไปด้วย

การเดินทางของชาวบ้านเพื่อไปที่ทำนา จากที่ “พอล พต” อ้างว่าไม่ไกลนั้น ที่จริงมันไกลมาก ส่งผลให้ชาวบ้านหลายคนต้องตายกลางทางเพราะอาหารและเสบียงในการเดินทางไม่เพียงพอ บวกกับพวกเขมรแดงไม่เชื่อในการแพทย์แผนใหม่จึงเน้นแผนโบราณที่คุณภาพการรักษาไม่ดีนัก การกระทำดังกล่าวนี้ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงานและความอดอยากเป็นจำนวนประมาณ 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนของประชาชนที่เสียชีวิตต่อจำนวนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดในขณะนั้น (ประมาณ 7.5 ล้านคน ในปี ค.ศ.1975) ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

20 เมษายน ค.ศ.1975 – ประชากรชาวพนมเปญ (เก่า) ถูกแยกแถวออกจากกันและให้เข้าไปประจำค่ายทำงานคอมมูน (หน่วยกลาง) ซึ่งจุผู้คนได้ครั้งละ 10,000 คน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ต่างจากเรือนจำดีๆ นี่เอง แม้กระทั่งพระสงฆ์ เด็ก หญิงมีครรภ์และเชื้อพระวงศ์บางกลุ่มถูกสั่งการให้ทำงานกลางแจ้งอย่างหนัก มีอาหารรองท้องเพียง 2 มื้อเท่านั้น นั่นคือ ปลาตากแห้งและข้าวต้ม

… แน่นอนเมื่อประชาชนถูกสั่งให้ทิ้งบ้านช่องเพื่อไปทำงานให้พวกเขมรแดงอย่างทันควัน มีหรือที่จะไม่มีการต่อต้านจากชาวเขมร

แต่คำตอบของเหล่าผู้คุมชาวเขมรแดงตอบคือการทรมาน การทุบตี การทารุณกรรมทางเพศ รวมไปถึงการสังหารหมู่อันเป็นตำนานที่โหดเหี้ยมที่สุดในเขมร นอกจากนี้ “พอล พต” ยังเร่งสร้างเครื่องจักรสังหารเพื่อเข้าสู่กองทัพเขมรแดงทันที โดยการนำเด็กอายุตั้งแต่ 12-15 ปี มาเดินแถวเข้ากัน จากนั้นผู้คุมชาวเขมรแดงจะนำตัวนักโทษการเมืองมาครั้งละมากๆ มาผูกมือ ปิดตาไว้ แล้วผู้คุมจะยื่นไม้หน้าสามหรืออาวุธบางชนิดให้เด็กชายเพื่อนำไปฟาดผู้เคราะห์ร้ายให้ตายไปข้างหนึ่ง ถ้าใครกล้า-ใครทำดีก็จะให้บรรจุเป็นทหารในกองทัพ

นอกจากนี้ ในการทำงานที่คอมมูน ซึ่งใช้แรงคนถึง 10,000 คน มีการพักผ่อนอันน้อยนิดและอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สามารถรองรับคนงานที่ทำงานกลางไร่-กลางแจ้งเกินวันละ 10 ชั่วโมงได้ คนป่วย สตรีมีครรภ์ คนชราและเด็กทารกเพิ่งคลอดคือผู้รับเคราะห์เนื่องจากมีอัตราการตายสูงมาก เพราะร่างกายไม่สามารถทำงานหนักๆ ได้ บางครั้งผู้หญิงที่เพิ่งคลอดจะถูกสั่งให้ไปทำงานหลังพักคลอดเพียง 2-3 วันเท่านั้น ใครที่ทำงานไม่ได้หรือป่วยหนัก มักมีจุดจบอยู่ที่การถูกนำไปยิงทิ้งทันที จากนั้นศพของเขาและเธอเหล่านั้นจะถูกส่งลงหลุมฝังหมู่ทันที มีไม่น้อยที่จะเสียชีวิตเพราะขาดสารอาหารตาย ส่วนผู้ป่วย-คนพิการ ถือเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ “พอล พต” ก็ไม่รอช้าที่กำจัดบุคคลเหล่านี้ การกำจัดมีหลายวิธี แต่ต้องให้โอกาสก่อน (ช่างเมตตาเหลือเกิน) นี่คือคำชี้แจงของ “เขียว สัมพันธ์” เพราะแม้จะพิการ-สติไม่ดี ก็จะนำมาใช้แรงงานเหมือนบุคคลปกติ เมื่อหาประโยชน์จากเขาเหล่านั้นไม่ได้ สิ่งที่จะใช้ปิดฉากนั้นคือ การฟาดให้ตายหรือสาดตะกั่วสังหารเขาเหล่านั้น

ผู้ใดหลบหนีจากคอมมูนจะถูกนำไปฝังทั้งเป็น จากนั้นชาวเขมรแดงจะทำกิจกรรมหลายๆ อย่างจากร่างของเหยื่อเหล่านั้น เช่น การปัสสาวะ ถ่มน้ำลาย รวมไปถึงการทุบตีขณะที่เหยื่อไม่สามารถปกป้องตนเองได้

คนจำนวนมากที่หิวโหยถึงขีดสุดนั้นมักจะหาโปรตีนมาเสริมให้ร่างกาย ทว่าในคอมมูนกักกันจะหาโปรตีนที่ไหนได้นอกจากซากศพของคนงานด้วยกันที่พวกเขาเห็นว่าเพิ่งถูกสังหาร พวกเขาวางแผนกันยามค่ำขณะที่ทหารเขมรแดงเผลอ รีบไปยังหลุมฝังเพื่อฉีกกระชากซากศพ เพื่อนำเลือดและเนื้อจากซากศพไปหลอมเป็นโปรตีนให้แก่ร่างกายเพื่อจะได้มีชีวิตรอดต่อไปในวันข้างหน้า ผู้ที่รอดพ้นทหารเขมรแดงเมื่อรอดก็รอดไป แต่เมื่อเขาถูกจับได้ ผลที่ตามนั้นอาจทรมานยิ่งกว่าความตาย – ทหารเขมรแดงจะนำเชือกรัดมือ-รัดเท้า เป็นแท่นตรงๆ เพื่อนำไปเสียบกับหลุมที่ขุดไว้ จัดการฝังรากลึกลงไป แค่นั้นอาจยังไม่อำมหิตพอ เพราะหลังจากนั้นเขาจะกลับศีรษะของเหยื่อกินศพรายนั้นและเอาศีรษะของเขาจิ้มลงพื้นดินเสมือนนกกระจอกเทศที่เมื่อตกใจจะฝังหัวลงไปในพื้นดิน แน่นอนเหล่านักกินศพไม่อาจทนได้กับการฝังให้หายใจไม่ออกจนตาย ในที่สุดพวกเขาก็ได้ตาย

เรื่องสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวและทั่วโลกจดจำที่สุดคือ “คุกนรกของเขมรแดง” นั่นเอง คุกที่โด่งดังที่สุดก็ได้แก่ “คุกหมายเลข 21” (S-21) และ “คุกตุล สาเลช” (Tuol Sleng) ที่สมัยก่อนเคยโรงเรียนมัธยม มาบัดนี้เขมรแดงได้ดัดแปลงจนกลายเป็นนรก ในช่วงสี่ปีที่เขมรแดงครองอำนาจมีคน 17,000-20,000 ถูกนำมาขังและฆ่าที่นั่น โดยคนเหล่านี้ถูกยัดเยียดว่าเคยก่ออาชญากรรมหรือข้อหาที่ฟังๆ ดูไร้สาระ เช่น ความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ อ่านหนังสือออก เป็นต้น จุดเด่นของคุกนี้คือเมื่อนักโทษถูกนำมาจะถูกถ่ายรูปพร้อมหมายเลขเก็บประวัติ จากนั้นก็มีการทำสอบสวนโดยการทรมานแบบโหดร้าย มีการทรมานด้วยเครื่องมือทรมานแบบยุคกลาง เช่น ทุบตี ไฟฟ้าซ็อต ถอดเล็บ พวกผู้คุมไม่นิยมให้นักโทษตายคาที่มากนัก พวกเขาอยากทรมานนักโทษมากกว่า เช่น บังคับให้กินอุจาระหรือปัสสาวะ ถูกล่ามอยู่ตลอดเวลาแม้แต่นอนหลับ

หลังจากทรมานจนสาแก่ใจแล้ว พวกนักโทษก็จะถูกส่งไปยัง “เจืองเอ็ก” (Choeung Ek) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ทุ่งสังหาร” (The Killing Field) เพื่อนำไปสังหารโดยวิธีการต่างๆ โดยไม่ใช้กระสุนปืนในการฆ่าและเมื่อฆ่าแล้วจะฝังศพเป็นหมู่ ภายหลังคุกทั้งสองนี้ถูกเวียดนามเข้ายึดได้ในปี ค.ศ. 1979 ก็พบว่าคุกแรกมีนักโทษรอดชีวิตเพียงเจ็ดคนเท่านั้น ส่วนทุ่งสังหารก็พบศพกว่า 8,895 ศพ ในหลุมขนาดใหญ่ ที่น่าสนใจคือในคุกแห่งนั้นมีนักโทษที่เป็นชาวต่างชาติด้วย เช่น ชาวอเมริกันสองคน ทั้งสองไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เพียงแค่พวกเขาล่องเรือจากไทยแล้วหลงทางมายังเขมรเท่านั้น พวกเขาถูกจับแล้วมาทรมานจนเสียชีวิตในนรกแห่งนี้ ปัจจุบันสถานที่ทั้งสองได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อระลึกถึงความโหดร้ายของเขมรแดง

สี่ปีแห่งความทรมานของชาวเขมรกับแผนพัฒนาประเทศ (หรือแผนสังหารประเทศ) ของ “เขียว สัมพันธ์” ในที่สุด “พอล พต” ได้ตัดสัมพันธ์กับเวียดนาม-พันธมิตรเก่าอย่างไร้เยื่อใย เวียดนามโกรธมากที่กัมพูชาทำอย่างนั้น จึงได้ส่งกองกำลังขนาดใหญ่บุกกัมพูชาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี ค.ศ. 1978 ได้ชัยชนะในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 ขับไล่พวกเขมรแดงออกไปตั้งหลักอยู่บริเวณติดกับชายแดนประเทศไทย ใกล้ๆ ตราดและอุบลราชธานี จนกระทั่งกลับกลายเป็นกลุ่มกองโจรกระจอกในที่สุด ส่วน “พอล พต” “เขียว สัมพันธ์” และผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ หนีรอดไปได้ ข่าวคราวของ “พอล พต” และ “เขียว สัมพันธ์” หายไปจากประวัติศาสตร์เขมรนานนับสิบปี (มีข่าวว่ารัฐบาลไทยช่วยเหลือหาที่หลบซ่อน “พอล พต”)

จากนั้นดูเหมือนจะเป็นเวรกรรม … “พอต พต” ป่วยเป็นโรคร้ายเขาอัมพาตครึ่งตัว แต่กระนั้นเขาก็ยังเป็นผู้นำเขมรแดงอยู่ แม้ว่าเขาจะสละอำนาจไปให้คนอื่น แต่คนพวกนี้ก็เป็นเพียงหุ่นเชิดของ “พอล พต” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขมรแดงของ “พอล พต” ก็ไม่มีอิทธิพลอะไรอีกแล้ว สมาชิกสำคัญหลายคนของเขมรแดงยอมจำนนและเข้าร่วมรัฐบาล ขนาด “เล็ง สาลี” ซึ่งเป็นน้องเขยของ “พอล พต” ยังขอยอมแพ้ หรือแม้แต่ตัว “ซอน เซน” ก็ถูก “พอล พต” ยิงทิ้งข้อหาที่พยายามหักหลัง

คำกล่าวสุดท้ายที่มีต่อโลกชีวิตของ “พอล พต” ช่วงสุดท้ายเหมือนชายชราที่หลงๆ ลืมๆ ที่เอาแต่พูดเรื่องอดีตและอยู่อย่างสิ้นหวัง จนสมาชิกเขมรแดงบางคนมีความคิดว่าจะส่งเขาไปศาลพิเศษสำหรับอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ แต่ความคิดนี้ก็สายไปเสียแล้ว … ในคืนวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1997 “พอล พต” เสียชีวิตอย่างสงบภายในกระท่อมที่คุมขังเขา คนใกล้ชิตของ “พอล พต” บอกว่าเขาตายเพราะโรคหัวใจ ถึงแม้หลายฝ่ายจะพยายามเข้าไปตรวจสอบศพ แต่อีกสองวันให้หลัง ศพของ “พอล พต” ก็ถูกเผาท่ามกลางกองขยะและกองยาง ทำให้ชาวโลกสงสัยจนถึงทุกวันนี้ว่า “พอล พต” เสียชีวิตเพราะอะไรกันแน่ ?

“I came to carry out the struggle, not to kill people. Even now, and you can look at me, am I a savage person?”

แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า “ผมมาเพื่อต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ (ชาวนา) ไม่ใช่มาฆ่าคน แม้บัดนี้คุณสามารถมองมาที่ผมได้ ผมเป็นคนเลวร้ายขนาดนั้นหรือ?”

นี่คือคำกล่าวสุดท้ายที่มีต่อโลก ต่อหน้าผู้สื่อข่าวที่บุกไปสัมภาษณ์และถามถึงความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อการตายของเพื่อร่วมชาติหลายล้านกว่าคน อันเป็นการกล่าวอ้างที่เข้าข้างตนเองอย่างหน้าด้านๆ โดยไม่ได้สนใจอะไรกับชีวิตของชาวกัมพูชานับล้านๆ คน และคำพูดสุดท้ายที่มีต่อผู้สื่อข่าวต่างชาตินั้นคือ

“ผมไม่เหลืออะไรอีกแล้วทั้งเงิน อำนาจ ทหาร หากทั้งนี้แล้ว … ปล่อยให้ผมมีชีวิตรอดจนช่วงสุดท้ายเถิด”

นั่นหมายความว่า “พอล พต” หมดเขี้ยวเล็บถาวรไปแล้ว เพราะหากเขายังมีกำลังอยู่ ผู้สื่อข่าวคงไม่มีวันได้ออกมาจากบ้านพักกักกันแน่นอน

ส่วนสมาชิกเขมรแดงที่มีส่วนร่วมสังหารหมู่ ต่างคนก็ได้รับผลกรรมหรือตายก่อนได้รับผลกรรม เช่น “นายพลตา ม็อค” ถูกทหารของรัฐบาลจับในปี ค.ศ. 1999 และเสียชีวิตในคุกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2006, สหาย “ดุช” หัวหน้าคุกนรกติดคุก ขณะที่ผู้นำหลายคนยังใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในชนบท กระบวนการศาลของเขมรเป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะมีนักกฎหมายกัมพูชาพยายามช่วยเหลือ อีกทั้งผู้นำเหล่านี้ส่วนมากชราภาพและมีปัญหาเรื่องสุขภาพจนไม่ความจำเป็นต้องขึ้นศาล ปล่อยตายเพราะหมดอายุไขไปเถอะ และที่น่าสนใจคือเกือบทั้งหมดอาจตายเพราะโรคชรามากกว่าจะตายเพราะการตัดสินด้วยซ้ำไป

เอกสารอ้างอิง :

01.  กำเหลง. http://writer.dek-d.com/Writer/story/viewlongc.php?id=138659&chapter=28, 29, 30
02. แคมมี่ เด็กดีดอทคอม. http://writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=205702&chapter=359

17 thoughts on “พอล พต: ย้อนรอยทุ่งสังหาร

  1. ประวัติดีทีเดียวคับได้ความรู้เยอะเลย พอลพตเลวที่สุดอ่ะ ผมขอเเช่งให้มานถูกทรมานในนรกยิ่งกว่านี้

  2. น่าสงสารคนเขมรยุคนั้นจัง แต่ตอนนี้ประเทศไทยก้อคล้ายๆประเทศเขมรในสมัยนั้นเข้าไปทุกที มีสยามแดง กับ สยามเหลือง การเมืองทำให้คนทะเลาะกัน

  3. ถ้าใครที่ได้อ่านอย่างตั้งใจจนจบน่าพอจะคิดได้บางว่าสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องทำในเวลานี้คือะไรอย่าคิดที่จะมีอำนาจมีเงินแต่ไม่สนว่าคนอื่นเค้าจะเป็นอย่างไงเพราะพอได้มาตายไปก็เอาไปไม่ได้แถมยังโดนตราหน้าว่าเลว

  4. ทำไมประชาชนชาวเขมรที่ตายด้วยการปกครองของ พอลพต เป็นจำนวน เกือบ ๕๐ % ของประชากรที่มีอยู่ในช่วงปี ๒๕๑๘-๒๕๒๓ ไม่รวมตัวกันต่อสู้กับพวกเขมรแดงที่มีผู้นำที่วิปริต ฆ่าประชาชนตายเพื่อสนองนโยบายความเท่าเทียมกันของชนชั้นซึ่งในความเป็นจริงไม่มีความเท่าเทียมกันในลัทธิใดในโลกนี้สติปัญญาที่โง่เง่าของผู้นำทำให้ประทเศชาติล่มจม

    • ขออภัยครับ … ลองเพิ่มขนาดตัวหนังสือแล้วเนื้อหามันไม่เป็นระเบียบ … เลยใช้ขนาดตัวหนังสือตามที่ Theme กำหนด … ถ้ายังไงใช้วิธีซูมเอาแล้วกันครับ : )

ใส่ความเห็น